International AIDS conference 2024
31/07/2024เพร็พ (PREP) ,เป็ป (PEP) คืออะไร
เพร็พ (PrEP) คืออะไร
เพร็พ (PrEP) ย่อมาจาก Pre-Exposure Prophylaxis คือยาที่ใช้ในการป้องกันเชื้อเอชไอวี (HIV) ก่อนการสัมผัสโรค โดยการรับประทานยาวันละหนึ่งเม็ดทุกวัน เพร็พ (PrEP) ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ จึงยังจำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
เพร็พ (PrEP) เหมาะกับใคร
เพร็พ (PrEP) เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีสูง ได้แก่:
- ชายที่มีเพศสัมพันธ์ชาย
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี
- ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน
- ผู้ที่ทำงานบริการทางเพศ
- ผู้ที่มาขอรับบริการ Post-Exposure Prophylaxis (PEP) อยู่เป็นประจำโดยไม่สามารถลดพฤติกรรมเสี่ยงลงได้
- ผู้ที่ใช้สารเสพย์ติดชนิดฉีด
- ผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา
เพร็พ (PrEP) ป้องกันจากการติดเชื้อเอชไอวีได้มากแค่ไหน
เพร็พ (PrEP) สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้เกือบ 100% หากผู้มารับบริการรับประทานทุกวัน และมีวินัยในการรับประทาน คือรับประทานในเวลาเดียวกันในทุกๆวัน และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง
จะรับเพร็พ (PrEP) ได้อย่างไร
งดมีเพศสัมพันธ์ 2 สัปดาห์ก่อนมารับเพร็พ (PrEP) ผู้มารับบริการจะได้รับการตรวจเอชไอวี การทำงานของตับและไต หลังจากที่ได้รับยาเพร็พ (PrEP) ครั้งแรกจะนัดตรวจเลือด 1 เดือน หลังจากนั้นนัดตรวจเลือดทุก 3 เดือน หากต้องการหยุดยา ผู้มารับบริการต้องมาตรวจเลือดก่อนหยุดยาเพร็พ (PrEP) ทุกครั้ง
เป็ป (PEP) คืออะไร
PEP ย่อมาจาก Post-Exposure Prophylaxis เป็นยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ในกรณีฉุกเฉิน ที่ต้องรับประทานให้เร็วที่สุดหลังสัมผัสความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวี โดยจะต้องเริ่มรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีความเสี่ยง และรับประทานติดต่อกันนาน 28 วัน
ใครบ้างที่ควรได้รับยาเป็ป (PEP)
ยาเป็ป (PEP) มีไว้สำหรับผู้ที่คาดว่ามีการสัมผัสเชื้อเอชไอวี มาภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ซึ่งจะใช้ในกรณีดังนี้
- มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่อาจจะมีเชื้อเอชไอวีและไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย ถุงยางอนามัยหลุดหรือฉีกขาด (ถุงแตก)
- ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
- ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
เป็ป (PEP) ป้องกันจากการติดเชื้อเอชไอวีได้มากแค่ไหน
ยาเป็ป (PEP) สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้กว่า 80% หากผู้รับบริการคาดว่าเพิ่งสัมผัสเชื้อเอชไอวีมาภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง และรับยาเป็ป (PEP) เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะว่ายิ่งรับยาเร็ว ยาจะยิ่งมีประสิทธิภาพ
จะรับยาเป็ป (PEP) ได้อย่างไร
ก่อนที่ผู้รับบริการจะรับยาเป็ป (PEP) แพทย์จะซักประวัติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และพิจารณาว่าจำเป็นต้องรับยาเป็ป (PEP) หรือไม่ โดยแพทย์จะสั่งตรวจเอชไอวี ตรวจไวรัสตับอักเสบบี การทำงานของตับและไตก่อนรับยาเป็ป (PEP) (หากติดเชื้อ HIV อยู่ก่อนแล้ว จะไม่สามารถใช้ยาเป็ป (PEP) ได้) หลังรับประทานยาครบ 28 วัน ตรวจเอชไอวีซ้ำ 1 เดือน และ 3 เดือน งดบริจาคเลือด และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
ข้อมูลจาก สภากาชาดไทย